สร้างนิสัยรักการอ่าน
ในชีวิตประจำวัน มนุษย์ต้องรับรู้ข่าวสารเรื่องราวต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา การอ่านเป็นวิธีการแสวงหาความรู้ที่ทำได้ง่ายที่สุด และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุดเช่นกัน การสร้างนิสัยรักการอ่านจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ ผู้อ่านจึงควรหมั่นฝึกฝน และสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับตนเอง การจะสร้างนิสัยรักการอ่านไดนั้นผู้อ่านต้องวิเคราะห์ตนเองว่ามีอุปสรรคในการอ่านอย่างไรบ้าง เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้มีนิสัยรักการอ่านขึ้นในตนเองต่อไป ทั้งนี้วิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน สามารถทำได้ดังนี้
๑. สร้างแรงจูงใจ การสร้างแรงจูงใจเพื่อนำไปสู่นิสัยรักการอ่าน อาจทำได้หลายวิธี ดังนี้
ให้สัญญา รางวัล หรือลงโทษตนเอง โดยให้สัญญาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น กำหนดว่า
"ถ้าอ่านเล่มนี้จบ จะไปเที่ยว"
"ถ้าอ่านเรื่องนี้จบ จะไปดูโทรทัศน์สักเรื่อง"
"ถ้าอ่านบทนี้ไม่จบ จะไม่ยอมลุกไปกินข้าว"
ข้อควรระวังในการสัญญากับตนเอง คือ อย่าให้สัญญาในสิ่งที่ยากเกินไป ถ้าทำไม่ได้จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ไม่อยากทำต่อไป
ตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและโทษจากการไม่อ่านอยู่เสมอ เช่น
"ไม่อ่านฉลากยาจะทำให้ใช้ยาผิด เป็นอันตรายต่อชีวิต"
"ไม่อ่านหนังสือเรียนทำให้สอบได้คะแนนน้อย"
"ไม่อ่านป้ายจราจรทำให้ถูกปรับ"
ชักชวนคนอื่นให้อ่านเรื่องเดียวกัน แล้วนำมาสนทนากัน วิธีนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีแนวร่วม จะเกิดการอ่านวิเคราะห์หลายดาน เป็นการเพิ่มประสบการณ์ และร่วมมือกันคิด
จัดแข่งขันการอ่านจากผู้อื่น เช่น แข่งขันกับเพื่อน ๆ กับคนในครอบครัว อาจจะเริ่มจากการอ่านเป็นหน้า เป็นบท เป็นเรื่อง และเป็นเล่ม ตามลำดับ
๒.สร้างโอกาสและหาเวลาอ่าน การสร้างโอกาสและหาเวลาอ่าน สามารถทำได้โดยไปยังแหล่งวัสดุการอ่าน เช่นห้องสมุด ร้านขายหนังสือ หรือศูนย์หนังสือต่าง ๆ และเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่าน เช่น เข้าร่วมกิจกรรมการอ่านในโรงเรียน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่จัดขึ้น
๓.เริ่มต้นการอ่านจากเรื่องที่ตนเองชอบหรือสนใจ การเริ่มต้นจากการอ่านเรื่องที่ตนชอบ สนใจ หรือเป็นประโยชน์ต่อตนเองก่อน ในขณะที่อ่านควรเปรียบเทียบประโยชน์ของเรื่องที่อ่านตามใจตนเอง กับการอ่านเรื่องที่มีคุณค่าอื่น ๆ เืพื่อเป็นแนวทางในการเลือกอ่านต่อไปให้มีความรู้หลากหลาย ไม่อยู่ในวงจำกัดเฉพาะเรื่องที่ตนเองสนใจเท่านั้น
๔.สมาคมกับนักอ่านหรือผู้ที่ชอบอ่านหนังสือ เพื่อที่จะได้รับการชักนำหรือคำแนะนำที่ถูกวิธี และจะได้เห็นตัวอย่างการอ่านจากผู้อื่น จนเกิดความเคยชิน และติดเป็นนิสัยรักการอ่านในที่สุด
๕.ตั้งความหวังให้กับตนเอง โดยวางเป้าหมายว่าจะพัฒนาการอ่านให้เกิดผลอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวังผลตามที่ตั้งเอาไว้
๖.ฝึกพิจารณา ฝึกทำความเข้าใจเรื่องราวที่อ่านทุกครั้ง แล้วบันทึกผลการอ่าน นับตั้งแต่ที่มาของหนังสือ สาระสำคัญของเรื่อง ความคิดเห็นของผู้อ่าน ถ้อยคำที่คมคาย ฯลฯ เพ่อจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปตามโอกาสอันควร
๗.ฝึกฝนและพัฒนาความสามารถในการอ่านขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจจะปฏิบัติตามคำแนะนำของตำรา หรือบุคคลผู้ีความสามารถในการอ่านก็ได้ พยายามปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และเกิดความก้าวหน้าเป็นระยะไป เช่น อ่านได้เร็วขึ้นใช้เวลาในการอ่านได้มากขึ้น จับสาระเรื่องราวที่อ่านได้ดีขึ้น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การสร้างนิสัยรักการอ่านอาจมีอุปสรรคอยูู่บ้าง ซึ่งจำเป็นจะต้องขจัดปัญหาให้หมดสิ้นก่อนฝึกนิสัยรักการอ่าน อุปสรรคเหล่านี้ ได้แก่
๑.ไม่ชอบอ่าน ชอบทำกิจกรรมอื่นมากกว่า หรือเกียจคร้านที่จะอ่าน
๒.มีปัญหาทางสุขภาพการและสุขภาพใจ เช่น สายตาไม่ดี เครียด กังวล
๓.สภาพแวดล้อมไม่ดี เช่น สถานที่ไม่เหมาะสม อุณหภูมิไม่พอดี แสงสว่างไม่พอ
๔.ขาดทักษะทางภาษา อ่านแล้วไม่เข้าใจ
๕.พื้นความรู้เดิมมีจำกัด เนื่องจากการศึกษาน้อย
๖.ไม่มีเวลาอ่าน
๗.อ่านช้า ไม่ชำนาญในการอ่าน
๘.ไม่เห็นประโยชน์ของหนังสือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น